ธรรมะกับการเมือง: ความเป็นทาสทางสติปัญญา
ถ้ามีเวลาก็คงนั่งคิดลอกบางส่วนของหนังสือเรื่อง “ธรรมะกับการเมือง” ของท่านพุทธทาส มาลงเรื่อย ๆ สำหรับ blog นี้ผมขอคัดในหัวข้อ “ความเป็นทาสทางสติปัญญา” ซึ่งท่านได้แยกเป็นสองส่วนคือ ความเป็นทาสทางสติปัญญาฝ่ายศาสนา และ ความเป็นทาสทางสติปัญญาฝ่ายโลก ลองอ่านและทำความเข้าใจกันดูนะครับเผื่อจะได้นำมาสร้างสรรค์บ้านเมืองเราให้ดีขึ้นมาบ้าง
ความเป็นทาสทางสติปัญญา
ความเป็นทาสทางสติปัญญาฝ่ายศาสนา
เพราะเราไปเห็นเรื่องชาวบ้าน เรื่องเมือง เรื่องปาก เรื่องท้อง เราก็ไม่ได้สนใจกับเรื่องศาสนา มันก็ยิ่งกว่าสูญเสียอิสรภาพ คือไม่ได้คิดนึกหรือต้องการที่จะมีอิสรภาพ
เรากำลังไม่มีอิสรภาพ ไม่มีเสรีภาพหรือไม่มีสมรรถภาพอะไรก็แล้วแต่จะเรียกในด้านความคิดนึก ที่เกี่ยวกับความคิดนึก; เพราะเรามันถูกทำให้เป็นทาสทางสติปัญญา
เรื่องนี้ผูดไปก็อันตรายเหมือนกัน แต่ก็ต้องพูดบ้าง คือว่าความงมงายทั้งหลายที่รับถ่ายทอดกันมา อย่างที่เรียกว่าประเพณีนิยม; นี้ก็มีอยู่บางอย่าง หรือบางส่วน ที่ทำให้หมดอิสรภาพในเรื่องใช้สติปัญญา แม้ในทางศาสนา ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ยิ่งกว่าเรื่องการเมือง พุทธบริษัทเรา ถ้าตกไปในความงมงานเท่าไรก็สูญเสียอิสรภาพทางสติปัญญาเท่านั้น
ความงมงายนี้มีหลายสิบ หลายร้อย รูปแบบ หรือชนิด ไปดูเอาเอง อย่าต้องออกชื่อ มันกระทบกระเทือน; ใครรู้ของใครมองเห็นของตัวเองแล้ว ก็ พยายามทำลายสิ่งที่กีดกันอิสรภาพเสรีภาพของความคิดนึกให้เราได้มีความคิดนึกที่เป็นอิสระ แม้แต่ การศึกษาธรรมะ หรือ การปฏิบัติธรรมะ ก็ควรจะเป็นอิสระ เราจึงก้าวหน้าทางการศึกษา และ ทางการปฏิบัติธรรมะ และมีหวังที่จะบรรลุมรรค ผล นิพพาน ถ้าเราติดตังอยู่ที่ความงมงายนี้แล้ว มันก็ไม่มีหวังที่จะก้าวหน้าไปตามทางของมรรค ผล นิพพาน
นี่ เรื่องใหญ่หลวงของพุทธบริษัท คือความไม่มีอิสระภาพในการใช้ความคิดนึก เลือกเฟ้น; อย่างที่เรียกโดยชื่อว่า ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์, ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์-การเลือกเฟ้นธรรมซึ่งเป็นองค์แห่งการตรัสรู้
วันนี้ไม่ได้ต้องการจะพูดเรื่องศาสนา แต่โดยเหตุที่มันเกี่ยวข้องกันอยู่กับการเมือง คือ พุทธบริษัทเรา ไม่เป็นอิสระ แม้แต่ในวงการของเรา การศึกษา หรือ การปฏิบัติที่เกี่ยวกับธรรมะแล้วตจะเอาปัญญาไหนไปอิสระ ในการที่จะวินิจฉัยเกี่ยวกับการเมือง จึงได้ดึงสิ่งที่เรียกว่าการเมืองเข้ามา, ชี้ให้เห็นว่า เป็นอันเดียวกันกับสิ่งที่เรียกว่า ธรรมะ เพื่อว่าจะได้แสวงหาอิสระตามธรรมชาติ มันเป็นอิสระที่แท้จริง มันจะมีอิสระทั้งทางศาสนา และ ทางอื่น ๆ รวมทั้งทางการเมืองด้วย
ที่ยกมาเปรียบเทียบนี้ มันเหมือนกับด่า; ขออภัย คือว่าแม้แต่ในวงการของตัว คือทางศาสนา ก็หาอิสรภาพ เสรีภาพ ในการใช้สติปัญญานี้ไม่ได้เสียแล้ว; แล้วทำไมจะไปมีอิสระภาพในการใช้สติปัญญา ในทางการเมือง ดังนั้น ต้องทำตนให้เป็นคนกล้า กล้าหาญ แล้วก็มี อิสรภาพในการพินิจพิจารณา โดยไม่ต้องกลัวขนบธรรมเนียมประเพณี ที่จะมามองดูกันเดี๋ยวนี้ว่าการเมืองนั้นมันคือธรรมะ
ก็ได้บอกมาแล้วว่า คำพูดที่พูดออกไปว่า การเมืองคือธรรมะ นี่พวกนักการเมืองสมัยใหม่เจี๊ยบเลย เขาก็จะหาว่าบ้า, หาว่าคนพูดมันบ้า ที่พูดว่า การเมืองคือธรรมะ; เพราะเขาไม่รู้จักคำว่า ธรรมะ ทีนี้อุปัชฌาย์อาจารย์ของเราก็จะหาว่าบ้า; ถ้าผู้พูดเป็นเด็ก บางที่ก็จะถูกเขกกระบาลด้วย ที่ไปพูดว่าการเมืองมันคือธรรมะ นี่เพราะว่า เขาไม่มีอิสรภาพ เสรีภาพที่จะมอง นี้ก็จะต้องดูกันเสียใหม่ ให้มันถึงความจริง หรือถึงข้อเท็จจริงเสียก่อน ว่าธรรมะมันคืออะไร ว่าการเมืองคืออะไร โดยที่มีอิสระเสรีในการที่จะดู หรือจะใช้สติปัญญานั้นแหละ
ความเป็นทาสทางสติปัญญาฝ่ายโลก
ทีนี้จะมาดูอีกทางหนึ่ง ความเป็นทาสสติปัญญาในทางโลก อย่าลืมว่าเมื่อตะกี้เราพูดแต่ความเป็นทาสทางสติปัญญาในฝ่ายศาสนา ทีนี้มาดูในทางฝ่ายโลกกันบ้าง ว่านักการเมืองในประเทศไทย มันเป็นทาสทางสติปัญญาของพวกนักการเมืองต่างประเทศ หรือพวกฝรั่งกี่มากน้อย; เพราะว่ามันไปเรียนการเมือง เรียนอะไรที่เกี่ยวกับการเมืองมาจากเมืองนอก ปริญญายาวเป็นหาง หางยาวเท่าไร คิดว่ามันจะเป็นทาสทางสติปัญญามากเท่านั้น ระวังให้ดี
ยิ่งเรียนเข้าไปมาก ยิ่งหลวมตัวเข้าไปมาก ยิ่งหลับหูหลับตา เชื่อเข้าไปมาก มันก็เป็นทาสทางสติปัญญามาก; ฉะนั้นนักการเมืองหรือนักศึกษาการเมืองพวกนี้แหละ ที่จะโห่เราว่าบ้าในเมื่อพูดว่า การเมืองคือธรรมะ, ถ้าเราตัดหางทิ้งเสียบ้าง เขาคงจะโห่น้อยลง, คือมามองดู เรื่องของพุทธบริษัทเสียบ้าง มองดูธรรมชาติอันลึกซึ้งบ้าง; แล้วก็มองเห็นข้อเท็จจริง อันนี้ ว่า การเมืองนั้นคือธรรมะ
จะให้พูดอีกสักกี่สิบครั้ง หรือกี่ร้อยครั้งก็ยังพูดได้ ยังมีเหตุผลอีกมากมายเยอะแยะ พูดกันอีกสัก 100 ครั้ง ก็ได้ ซึ่งล้วนแต่พิสูนจ์ให้เห็นว่า การเมืองน่ะมันคือธรรมะ ในความหมายที่ถูกต้อง ไม่ใช่ความหมายแคบ ๆ ตื้น ๆ ของคนที่ไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ เต็มตามความหมายของคำนี้
ถ้าจะอิสรภาพทางสติปัญญา ในเรื่องทางการเมืองก็ต้องคิดกันเสียใหม่ ไปปรับปรุงกันเสียใหม่, แล้วการเมืองก็จะหมุนมาในทางชื่อตรง และ สุจริต โลกนี้ก็จะมีสันติภาพได้ เดี๋ยวนี้ในประเทศเรา ก็หาผลอันเป็นสันติภาพจากทางการเมืองไม่ได้ มีแต่ความขัดแย้ง ซึ่งเป็นสิ่งเสนียดจัญไรที่สุด; โดยเฉพาะความขัดแข้งทางการเมือง มีแต่จะทำลายประเทศชาติ ถ้ารู้จริงถึงความจริงข้อนี้ จะไม่เกิดความขัดแย้ง, เพราะมันมีจริงเพียงสิ่งเดียว จึงอยากจะให้มีเสรีภาพ หรืออิสรภาพ รวมทั้งสมรรถภาพในการวินิจฉัย, หรือว่าในการที่จะรวบรวมมาวินิจฉัยว่าอะไรเป็นอะไร
ถ้าเรา ไปติด ไปยึดในตำราในทฤษฎี ในอดุมคติ แนวไหน สายไหนเสียแล้ว เราไม่มีทางที่จะไปรวบรวมอันอื่นมาวินิจฉัย เพราะเราเป็นทาสทางสติปัญญาของทฤษฎีสายนั้นเสียแล้ว; แล้วก็ชอบยึดมั่นในสิ่งที่เรียกว่าปรัชญา คือปรัชญาทางการเมือง สายนั้น สายนี้ แขนงนั้น แขนงนี้ ของคนนั้น คนนี้; และ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่มีทางที่จะรวบรวมเอาความจริงของธรรมชาติ คือความหมายของคำว่า “ธรรม” ทั้ง 4 ความหมายนั้นมาพิจารณาดู