สนามเด็กเล่น

Wed 18 Apr 2012
ใช้เวลาอ่าน 3 นาที
maliwan & ratree

เครื่อง maliwan & ratree by อ.ฉัตรชัย

เมื่อวานได้มีการคุยเรื่องความหลังครั้งก่อนกันใน facebook โดยอาจารย์ฉัตรชัย แห่งวิศวะกรรมคอมพิวเตอร์ ม.อ. หาดใหญ่ ได้โพสรูปเครื่อง server แห่งตำนาน maliwan.psu.ac.th กับ ratree.psu.ac.th สำหรับผมแล้วเครื่อง maliwan (มะลิวัลล์) ถือเป็นแหล่งความรู้ที่หาไม่ได้จากห้องเรียนจริง ๆ จากความคิดเห็นที่โพสกันในรูปนั้นทำให้รู้ว่าหลายคนได้รับความรู้และประโยชน์จากเครื่องสองเครื่องนี้จำนวนไม่น้อย

จากรูปนี้ทำให้แต่ละคนอดที่จะเล่าความหลังเกี่ยวกับประสบการณ์ที่มีต่อมันไม่ได้ ผมเองก็มีความหลังกับ maliwan ตั้งแต่ปีหนึ่งยันปีสี่ เพราะที่นี่คือที่ที่วิเศษสุดสำหรับผมแล้วละ มันเป็นเปรียบเสมือน social network ของสมัยนั้นนักศึกษาทั้งมหาลัยใช้ maliwan เป็น mail server ที่สามารถเข้าไปอ่านเมลจากโปรแกรม pine แรก ๆ มันยังไม่มี webmail ให้ใช้งาน แต่บางคนก็ใช้ Pegasus mail ซึ่งเป็น client บน Windows 3.11 network ที่ run อยู่บน Netware นอกจากเมลแล้ว ยังมี talk ทั้งคุยกันเองในมหาลัย หรือ จะ finger ออกไป มหาลัยต่าง ๆ สมัยนั้นส่วนใหญ่จะมี server ให้นักศึกษาใช้กัน เราก็ finger ไปดูแล้วก็เรียก talk กันไป นอกจาก talk ก็ยังมี write ส่งข้อความหากันไปหากันมาสนุกสนาน และมี twrite เด็ก KMITT หรือ KMITNB นี่แหละเขียนไว้ ก็เอามาเล่นกัน twrite มันสามารถส่งข้อความเป็นภาพ ascii ขนาดใหญ่เป็นตัวอักษรภาษาไทยไปให้เพื่อน ก็สนุกไปอีกแบบแต่หน้าจอจะเต็มไปด้วยข้อความจาก twrite บางคนอาจจะฉุนได้ และอีกอย่างที่สมัยนั้นฮิตกันมากคือ การประดิษฐ์ภาพหลากสีสันสวยงามด้วย ASCII  Code ยอมรับจริง ๆ ว่าขยันกันมาก เป็นรูปตัวการ์ตูนบ้าง ดอกไม้ หัวใจ สารพัด แล้วก็ส่งขึ้นไปแสดงบนหน้าจอเพื่อน ๆ หรือ สาว ๆ เป้าหมายที่เล็งไว้ นึกถึงแล้วมันสนุกจริง ๆ สนุกกว่า facebook สมัยนี้อีก

อีกอย่างที่รู้สึกโชคดีคือ ผมมีโอกาสรู้จัก Windows กับ Unix พร้อม ๆ กัน ก่อนหน้าสมัย ม.ปลายห้องผมไม่มีโอกาสได้เรียนวิชาคอมพิวเตอร์ เพราะเขากันไว้สำหรับนักเรียนห้องโครงการพิเศษ ไอ้เราห้องวิทย์ธรรมดา แค่โอกาสเดินผ่านหน้าห้องคอมพ์ก็เป็นบุญแล้วละ ฮา ๆ แต่อาจารย์ประหยัด สุขศรี อาจารย์ฟิสิกส์ ตอน ม.4 แกเปิดสอนพิเศษคอมพิวเตอร์ ข้างนอก ก็ชวนกันไปเรียนกับแก ถือเป็นอาจารย์คอมพ์คนแรกของผมเลยละ ตอนนั้นเรียน Dos CW และ Lotus 1-2-3 ซึ่งเป็นหลักสูตรพื้นฐานที่ใครเรียนคอมพ์ก็ต้องเรียนกัน และถือเป็นการจุดประกายทำให้ชอบคอมพิวเตอร์ พอเข้ามหาลัย เป้าหมายแรกคือศูนย์คอมพิวเตอร์ ตอนปีหนึ่งไอ้เจนเพื่อนซี้ยังเรียนอยู่ คณะวิทยา ที่ ม.อ. พอมีเวลาว่างก็จะชวนไอ้เจนนี่แหละไปเล่นคอมพิวเตอร์ที่ศูนย์คอมพ์  ห้องคอมพ์ไม่ปิดก็ไม่กลับหอกัน วันหยุดก็ตื่นแต่เข้าเพื่อไปเล่นคอมพ์ วันปกติตื่นไม่ค่อยไหวนะเวลาไปเรียนฮา ๆ การเข้าใช้คอมพ์ที่ศูนย์คอมพ์นั้น ต้องซื้อชั่วโมง มีสองส่วน คือ ส่วนของ NooNui (หนูนุ้ย) หรือ Netware และ ส่วนที่สองเป็นของ Maliwan เป็น Unix ถ้าเล่นที่ศูนย์คอมพ์ ยังไงก็ต้องเข้า หนูนุ้ยก่อน แล้ว telnet เข้าไป Maliwan อีกที จึงต้องบริหารเวลาให้ดี อย่างใดอย่างหนึ่งหมดก่อนก็ลำบาก ตอนนั้นเลยระดมทุนฃอ ชม. จากเพื่อน ๆที่ไม่ใช้มา ก็ได้เยอะพอสมควรนะ แต่ก็ต้องจ่ายค่า Maliwan เยอะพอสมควร เพราะยืมเพื่อนไม่ได้ จริง ๆ จุดประสงค์ที่มหาลัยตั้งไว้ หนูนุ้ย ไว้ใช้พิมพ์งาน เป็นหลักมีทั้งพิมพ์กับ word และ พริ้นออกมา ส่วน maliwan เอาไว้เป็น mail server เป็นหลัก อ้อ!! ยังมีวิธีที่ไม่ต้องเข้าหนูนุ้ย คือไปเล่นที่ห้องสมุด ห้องสมุด boot เครื่องมาแล้วเข้า windows เลยไม่ต้องผ่าน netware หลังจากนั้นค่อย telnet เข้า maliwan หรือ เล่นมาจากห้องคอมคณะ ตอนปีหนึ่งถึงปีสามห้องคอมพ์คณะยังมีเครื่องแค่ไม่กี่เครื่องการที่จะเล่นนาน ๆ มันลำบาก

สิ่งที่ได้จาก Maliwan นั้นมากมายจริง ๆ สิ่งที่มหาลัยเห็นก็แค่เด็กมาเล่นคอมพ์ มา talk มาส่งเมล มาเล่นเว็บก็แค่นั้น แต่จริง ๆ แล้วพวกเราได้วิชาติดตัวใช้ทำมาหากินกันมาถึงทุกวันนี้ แล้วเราได้อะไรจาก Maliwan บ้าง? ก็คงเล่าไม่หมด เขียนแค่พอจะนึกได้ อย่าลืมว่าสิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานนะครับมันอาจจะไม่ใช่วิชาขั้นสุดยอด สิ่งแรกที่ได้คือการเรียนรู้ด้วยตนเอง จากสิ่งรอบข้าง จากเพื่อน จากรุ่นพี่ เข้ามาเล่นในศูนย์คอมพ์ ผมเองนั่งดูพี่ ๆ คณะวิศวะ บ้าง วจก. บ้าง วิทยาบ้างเข้ามาเล่น แอบดูว่าพี่เค้าเล่นอะไร สั่งคำสั่งอะไร ก็ลองพิมพ์ตาม ผมใช้ pico มาถึงทุกวันนี้เพราะแอบมองพี่ข้าง ๆ ใช้ pico นี่แหละ ใช้จนติด มีวันหนึ่งพี่ข้าง ๆ ใช้ vi ผมก็ลองบ้างโดยไม่รู้ว่ามันคืออะไร เข้าไปแล้วออกไม่ได้ครับ หน้าจอก็ดำ ๆ อยู่นั้นแหละ ทำยังไงก็ออกไม่ได้ จะถามก็ไม่กล้าถาม ก็ต้องปิดเครื่อง boot ใหม่กันเลยครับ ฮา ๆ โคตรฮา มันอาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ผมไม่ใช้ vi จนถึงทุกวันนี้ก็ได้  อีกอย่างที่ถือว่าใช้การครูพักลักจำ คือการเขียนเว็บครั้งแรก ผมเห็นเด็ก วจก.คอม นั่งอยู่โต๊ะหน้า แล้วมันก็โหลดข้อมูลจากแผ่น Disk A เข้าไปแล้วดูผ่าน Netscape ตอนนั้นผมทึ่งมาก มันทำได้ยังไงวะ เพราะเป็นเรื่องใหม่สำหรับผม หลังจากผมทราบ login ของเด็ก วจก. คนนั้นผมเข้าไปดูใน home ว่าทำอะไรยังไง ก็ทำตามแล้วก็เอา file html ของเขามาใส่ไว้ใน home ผม ฮา ๆ แล้วก็แก้ทีละนิด ๆ เริ่มจากเปลี่ยนเป็นชื่อผมก่อน แล้วในที่สุดผมก็เข้าใจการสร้างเว็บเพจ โดยไม่ต้องลอกใครอีก เหอ ๆ ต่อมาหลังจากนั้น มีพี่ วจก.คอม แกเขียนเว็บแบบ dynamic ซึ่งไม่ใช่เว็บแห้ง ๆ เหมือนแต่ก่อน ก็สร้างความตื่นเต้นให้ผมอีกเช่นเคย วันหนึ่งพี่แกมานั่งอยู่โต๊ะหน้าผมเช่นเคย โอกาสการเรียนรู้ของผมก็มาถึงอีกครั้ง ผมนั่งแอบดูว่าพี่แกทำอะไรบ้าง ต่อมาก็หาว่าพี่แก login อะไรเมื่อรู้ก็เข้าไปดูว่าแกเขียนอะไรไว้บ้าง ฮา ๆ ตอนนั้นพี่แกเขียน CGI ด้วย Shell script เป็น C Shell แม่มโคตรเท่ ก็ลองทำตามบ้าง โชคดีว่าตอนนั้นสามารถค้นหาข้อมูลทางเว็บได้แล้วแต่ยังไม่มี Google นะ ใช้ lycos บ้าง AltaVista บ้าง Yahoo บ้าง เลยได้รู้ว่านอกจาก HTML แล้วยังสามารถใช้ CGI ได้อีก Maliwan รองรับหมดครับ มันแจ่มจริง ๆ maliwan สามารถใช้ CGI แบบ Shell แบบ ภาษา C ก็ได้ หรือ Perl ก็ได้ ตอนนั้นก็แอบเขียน shell ตามพี่ วจก. คนนั้น ถ้าจำไม่เป็นแกเขียน shell แสดงว่าใคร login อยู่บ้าง อะไรประมาณนี้ สักพักพี่แกรู้ตัวครับ แกก็ตั้งชื่อไฟล์ไว้ใน dir ของแกว่า อย่า copy ไปนะ ฮา ๆ ไม่มีโอกาสได้ขอโทษแกเพราะแกจบไปเสียก่อน ไม่มีโอกาสได้คุยกันด้วย โดนไอ้หัวขโมยขโมย file ไปหลาย files ก็ถือเป็นครูคนหนึ่งสำหรับผม

lotus.psu.ac.th

เครื่อง lotus.psu.ac.th

หลังจากครูพักลักจำนำมาพัฒนาฝีมืออยู่สักพักก็เริ่มสร้าง services บริการเพื่อน ๆ ใน maliwan เช่น สร้าง Guestbook แล้วให้เพื่อน ๆ มาสมัครเอาไปใช้งาน สร้าง web counter ให้เพื่อนไปแปะไว้ในเว็บ สร้างเว็บสำหรับ run command line บน maliwan เช่น finger ส่ง write แบบนิรนาม คือถ้าส่งจากเว็บผมรับรองว่าสาวเจ้าไม่รู้ว่าใครส่งมาหาเป็นต้น ช่วงปีสาม ปีสี่ ตอนนั้นบริการส่ง Pager กำลังได้รับความนิยม มีน้องวิศวะคอมพ์ เจ้าปุกปุย กับเจ้าสิทธิ์ รู้จักและเป็นที่ปรึกษาให้ผมด้วย เจ้าปุกปุยทำเว็บส่งเพจให้กับ sabye.com  ผมซื้อหนังสือ perl มาอ่าน ประกอบกับมีเว็บแนะนำพวกทำ sock เพื่อทำตัวเองเป็น browser แล้วส่งพวก GET POST ไปยังเว็บ Server ก็เอามาดัดแปลงทำตัวส่ง Pager ของค่ายต่าง ๆ สนุกมาก ตอนนั้นผมมี server linux ไว้ที่คณะแล้วก็ไปตั้ง server ส่ง pager ไว้ ของผมพิเศษหน่อย มีทั้งบริการบนเว็บ และ สามารถส่งจาก terminal จาก Maliwan ได้ด้วย ตอนนั้นผมเขียน C ง่าย ๆ เชื่อมระหว่าง Maliwan กับ lotus.psu.ac.th ซึ่งป็น linux มี service ส่งเพจที่นั้น แล้วมีวิธีติดตั้งให้กับเพื่อน ๆ สามารถติดตั้งบน maliwan แล้วก็ส่งข้อความเข้ามา สามารถตั้งเวลาส่งก็ได้ หรือจะส่งทันทีก็ได้ นึก ๆ แล้วตอนนั้นทำไปได้ยังไง -_-!

สิ่งที่ได้อีกอย่างคือพื้นฐาน command line ผมได้จาก  maliwan เต็ม ๆ เลยละ มันได้มาจากการเล่นนี่แหละ ง่าย ๆ การ finger เวลามีคนเข้ามาเล่นเยอะ ๆ มันก็ละลานตาไปหมด เราก็ต้องคัดกรองละ เช่น เอาเฉพาะ MISS และ รหัส 35 คือสาว วจก. เราก็ต้องหาวิธีที่ใช้คำสั่ง ต้องใช้ sort ใช้ grep มาช่วย เมื่อรู้ทีละนิด ๆ ก็เอามาปะติดปะต่อกันจนได้คำสั่งตามที่ใจต้องการ ทำให้เวลามาใช้ linux หรือ OS X ก็ตามสามารถใช้ command line ได้อย่างไม่กลัว

ตอนปี 4 ศูนย์คอมพ์เปิดรับสมัคร heal desk คอยให้คำแนะนำและความช่วยเหลือในห้องคอมพ์ ก็ไปสมัครกับเขาด้วยได้เล่นคอมพ์ไปด้วยได้เงินกินหนมด้วย ห้องคอมพ์มีพระคุณมากจริง ๆ

เรื่องมันยาวเล่าไม่หมด เอาเป็นว่าสรุปกันเลยดีกว่า อาจารย์ฉัตรชัยเจ้าของภาพ ได้ให้ความเห็นกับเรื่องนี้ได้อย่างน่าสนใจทีเดียว อาจารย์แกบอกว่า เครื่องที่มหาลัยทำเรื่องซื้อมานั้น มันมีเป้าหมายชัดเจน ว่านำมาทำ mail server บ้าง file server บ้าง แต่หน้าที่ของมันมันมากกว่านั้น มันเปรียบเสมือน สนามเด็กเล่น ที่ให้เด็ก ๆ ได้เข้ามาเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากมัน เครื่องเหล่านี้เมื่อหมดความสามารถก็ถูกเก็บเข้ากรุบ้าง จำหน่ายบ้าง เป็นที่น่าเสียดาย แต่สำหรับพวกผมแล้วมันคืออาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาที่มีคุณค่าจริง ๆ

ก่อนหน้า ที่คุ้นเคย
ถัดไป WordPress Addict